news_promotions_readmore110-things-consider-buying-thermal-imaging-cameranewid = 663 10 ข้อต้องคำนึงในการเลือกซื้อกล้องถ่ายภาพความร้อน (Thermal Camera) ;
10 ข้อต้องคำนึงในการเลือกซื้อกล้องถ่ายภาพความร้อน (Thermal Camera)
Share

10 ข้อต้องคำนึงในการเลือกซื้อกล้องถ่ายภาพความร้อน (Thermal Camera)

อุณหภูมิเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเสมอ และถูกนำมาวัดค่าเพื่อใช้งานในหลากหลายด้าน อาทิ วัดสภาพอากาศในแต่ละวันว่าร้อนหรือหนาว วัดอุณหภูมิของร่างกายว่ามีไข้ขึ้นหรือไม่ การปรุงอาหาร และอื่นๆ อีกมากมาย โดยมีการใช้อุปกรณ์ เช่น ปรอทวัดไข้ หรือเครื่องวัดอุณหภูมิดิจิทัลที่แสดงค่าเป็นตัวเลข แต่หากเป็นในภาคอุตสาหกรรม หรืองานบางประเภทที่ต้องอาศัยความแม่นยำในการตรวจวัดอุณหภูมิ แน่นอนว่า ต้องมีการใช้งานอุปกรณ์ที่มีความแม่นยำและมีฟังก์ชันมากกว่าอย่าง “กล้องถ่ายภาพความร้อน” หรือ “Thermal Camera” นั่นเอง

 

วันนี้ PAT จะแนะนำให้รู้จักกับกล้องถ่ายภาพความร้อน พร้อมแนะนำสิ่งที่ต้องคำนึงในการเลือกซื้อกล้องถ่ายภาพความร้อน ให้คุ้มค่าและตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด

 

กล้องถ่ายภาพความร้อน คืออะไร?

กล้องถ่ายภาพความร้อน (Thermal Camera หรือ Thermoscan) คือ กล้องที่มีความสามารถในการวัดค่าอุณหภูมิบนพื้นผิวของวัตถุต่างๆ โดยอาศัยการตรวจจับ “รังสีอินฟราเรด (Infrared Radiation หรือ IR)” ที่แผ่ออกมา ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และแสดงภาพถ่ายออกมาเป็นแถบสี (Palette) ที่บ่งบอกค่าอุณหภูมิต่างๆ นั่นเอง

 

การตรวจวัดอุณหภูมิของวัตถุผ่านกล้องถ่ายภาพความร้อน เป็นวิธีการวัดแบบไม่สัมผัสและไม่ทำลายวัตถุ อีกทั้งยังสามารถตรวจวัดความร้อนในพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือในพื้นที่ที่มีอันตรายในการเข้าเพื่อตรวจวัด จึงได้กลายมาเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ถูกใช้งานในหลายภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

 

กล้องถ่ายภาพความร้อน ใช้งานในด้านไหนบ้าง?

ด้วยความสามารถของกล้องถ่ายภาพความร้อน จึงทำให้อุปกรณ์นี้ถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์หลากหลาย เหมาะสำหรับทุกการใช้งานที่ต้องการวัดค่าอุณหภูมิโดยไม่ต้องสัมผัสวัตถุ เช่น

 

  • การตรวจสอบระบบไฟฟ้า ตู้ไฟ เสาไฟฟ้า มอเตอร์ และอุปกรณ์ไฟฟ้า
  • ใช้ตรวจวัดอุณหภูมิก่อนการซ่อมบำรุงรักษา มอเตอร์ แบริ่ง เครื่องจักร หรืออุปกรณ์ไฟฟ้า
  • ใช้ในงานอนุรักษ์พลังงาน เช่น การตรวจสอบคุณภาพฉนวนความร้อน ความเย็น สตีมแทรป
  • ใช้ในงานวิจัยและพัฒนาการกระจายความร้อน เช่น แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสังเกตพฤติกรรมการทำความร้อนความเย็น

 

เห็นได้ว่ากล้องถ่ายภาพความร้อนเป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์หลายด้าน ช่วยลดความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงาน วัดอุณหภูมิได้แม่นยำ อีกทั้งยังบันทึกเป็นภาพถ่ายได้ เพื่อเก็บรวบรวมเป็นข้อมูลในการดำเนินงานด้านต่างๆ ได้ด้วย

 

การเลือกกล้องถ่ายภาพความร้อนให้ตอบโจทย์การใช้งาน

ปัจจุบัน มีกล้องถ่ายภาพความร้อนหลายยี่ห้อ หลายรุ่น ตั้งแต่ราคาย่อมเยาไปจนถึงราคาสูง การเลือกให้ถูกต้องและเหมาะสมจึงต้องมีข้อควรคำนึง พร้อมรู้ถึงเทคนิคการเลือกใช้งานกล้องถ่ายภาพความร้อน ดังนี้

 

1. ช่วงการวัดอุณหภูมิของกล้องถ่ายภาพความร้อน

วัตถุแต่ละชนิดมีค่า Emissivity หรือความสามารถในการสะท้อนรังสีอินฟาเรดแตกต่างกันไป โดยทั่วไป เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรดทั่วไปจะถูกตั้งค่า Emissivity ไว้ที่ 0.95 (ค่ามาตรฐาน) ซึ่งผู้ใช้งานควรทราบและพิจารณาว่าวัตถุต้องการวัดอุณหภูมิมีค่า Emissivity อยู่ที่เท่าไหร่ แล้วกล้องถ่ายภาพความร้อนสามารถวัดค่านั้นๆ ได้หรือไม่ นอกจากนี้ อาจมีกล้องถ่ายภาพความร้อนบางรุ่นที่สามารถเปลี่ยนค่าการวัด Emissivity ได้ ซึ่งจะให้ความแม่นยำในการวัดได้มากขึ้น

 

2. ความละเอียดของภาพ หรือ จำนวน Pixel

ยิ่งกล้องถ่ายภาพความร้อนมีความละเอียดสูงมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้ได้ภาพความร้อนที่มีคุณภาพ และวัดค่าอุณหภูมิได้แม่นยำขึ้นไปด้วย แต่ก็อาจมีราคาที่สูงเช่นกัน หากต้องการประหยัดงบประมาณ สามารถเลือกกล้องที่มีความละเอียดต่ำได้ แต่ไม่ควรต่ำเกินไปจนทำให้เกิดข้อผิดพลาด (Error) จากการวัด

 

3. พิจารณาระยะการวัดเทียบกับขนาดวัตถุ

กล้องถ่ายภาพความร้อนแต่ละรุ่นจะมีค่า Geometric Resolution (IFOV) ที่ไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นค่าที่บ่งบอกว่า ตัวกล้องสามารถระบุวัตถุได้แม่นยำในระยะไกลเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่น หากมีการระบุค่า IFOV ไว้ที่ 1.7  mRad (milliRadians) นั่นหมายความว่า กล้องตัวดังกล่าวสามารถระบุวัตถุขนาดเล็กที่สุด 1.7 มิลลิเมตร ได้ที่ระยะ 1 เมตร 

 

4. การปรับโฟกัส (Focus)

ความสามารถในการปรับโฟกัสของเลนส์ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ต้องพิจารณา  หากกล้องสามารถปรับโฟกัสแบบ Manual หรือ Auto ได้ ก็จะช่วยให้สามารถจับภาพความร้อนที่ชัดเจนได้ แต่ถ้าเป็นกล้องแบบ Fix Focus ก็ควรถ่ายในระยะที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้ภาพออกมาคมชัดที่สุด เพราะหากภาพถ่ายที่ได้ไม่มีความคมชัด เบลอ จะส่งผลให้การวัดค่าและการวิเคราะห์ภาพความร้อนไม่มีประสิทธิภาพ

 

5. ค่า Thermal Sensitivity (NETD)

ค่า Thermal Sensitivity หรือ NETD (Noise Equivalent Temperature Difference) บ่งบอกความไวต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ หรือความแตกต่างของอุณหภูมิที่น้อยที่สุดที่สามารถมองเห็นได้โดยกล้องถ่ายภาพความร้อน เช่น หากกล้องมีค่า NETD อยู่ที่ < 50 mK หมายความว่าเมื่อมีอุณหภูมิน้อยกว่าเพียง 0.05°C ก็จะแสดงผลเป็นเฉดสีที่แตกต่างกันได้ ซึ่งยิ่งค่า NETD น้อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความแม่นยำในการระบุความแตกต่างของอุณหภูมิมากเท่านั้น

 

6. แถบสีความร้อน (Palette) ที่สามารถบันทึกได้

กล้องวัดความร้อนจะแสดงผลอุณหภูมิเป็นแถบสี ซึ่งบางรุ่นอาจมีเพียงแถบสีเดียว บางรุ่นอาจสามารถแสดงได้หลายแถบสี เช่น แถบสี Iron ที่เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไปหรือการตรวจสอบโครงสร้าง แถบสี Rainbow ที่เหมาะสำหรับตรวจวัดวัตถุที่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิไม่มาก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแถบสีแบบ Artic, White Hot และ Black Hot ที่เหมาะสำหรับการใช้งานที่ต่างกันไปอีกด้วย

 

7. โปรแกรมวิเคราะห์ภาพความร้อน

การเลือกกล้องถ่ายภาพความร้อนที่มาพร้อมกับโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ (Software) ที่ใช้งานง่าย ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญเนื่องจาก ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องวิเคราะห์ภาพความร้อนด้วยโปรแกรมก่อนที่จะรายงานผลการตรวจวัด หากโปรแกรมมีความซับซ้อน ใช้งานยาก ก็จะเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ใช้งาน ทำให้การดำเนินงานล่าช้าได้นั่นเอง

 

8. อายุการใช้งานแบตเตอรี่ในแต่ละครั้ง

ในประเภทงานอย่างการซ่อมบำรุงเครื่องจักร ที่มักมีจุดในการตรวจวัดหลายๆ จุด จำเป็นต้องพิจารณาอายุการใช้งานแบตเตอรี่ในการชาร์จแต่ละครั้งด้วยว่าแบตเตอรี่ที่ใส่เข้าไปนั้นสามารถใช้งานได้นานเท่าไหร่ เพื่อให้การดำเนินงานต่อเนื่องและไม่เกิดปัญหาอย่างการบันทึกข้อมูลไม่สมบูรณ์ตามมาในภายหลัง

 

9. ราคาและความคุ้มค่าของกล้องถ่ายภาพความร้อน

ผู้ซื้อควรพิจารณาเปรียบเทียบราคาและกล้องถ่ายภาพความร้อนต่างๆ ที่ได้ว่ามีรายการอะไรบ้าง มีฟังก์ชันอะไรบ้าง เหมาะสมกับการใช้งานหรือเปล่า และเป็นราคาที่คุ้มค่ากับคุณสมบัติที่กล้องนั้นๆ มีหรือไม่ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

 

10. ความเชี่ยวชาญและความน่าเชื่อถือของผู้จัดจำหน่าย

กล้องถ่ายภาพความร้อนเป็นอุปกรณ์เฉพาะทาง ดังนั้นก่อนจะเลือกซื้อ ก็ควรแน่ใจก่อนว่าตัวแทนจำหน่ายที่ติดต่อนั้นมีความเชี่ยวชาญจริง สามารถให้คำแนะนำที่เหมาะสมและตรงต่อจุดประสงค์ในการใช้งานอุปกรณ์ได้

 

ทั้งหมดนี้ก็ล้วนเป็นข้อควรคำนึงสำคัญที่ควรนำไปพิจารณาให้ดีก่อนจะตัดสินใจ เพื่อให้ได้พบกับความคุ้มค่ามากที่สุด และหากคุณกำลังต้องการซื้อกล้องถ่ายภาพความร้อน ที่ราคาเหมาะสม มีคุณภาพ ได้มาตรฐานสากล และตอบโจทย์งานวิศวกรซ่อมบำรุงและช่างเทคนิคได้อย่างดีเยี่ยม สามารถเข้ามาสอบถามพูดคุยและรับคำปรึกษากับ P&A Technology ได้ตามรายละเอียดด้านล่าง

 

ติดต่อสอบถาม สั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทาง

โทร.: 02-454-2478

Email: info@pat.co.th

LINE OA: https://lin.ee/4FaAArm0d

 

ติดตามข่าวสารและโปรโมชันใหม่ๆ จากเราก่อนใคร

Facebook: P&A Technology Company Limited

Instagram: pandatech_official